มูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ

      มูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ อยู่ภายใต้พระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นองค์กรสาธารณกุศลลำดับที่ 766 ตามประกาศกระทรวงการคลัง ได้ก่อตั้งขึ้นใน  พ.ศ. 2550  โดย นายแพทย์กฤษณ์ จาฏามระ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคมะเร็งที่ทำงานในสหราชอาณาจักรเป็นเวลากว่า 30 ปี จากวิสัยทัศน์ที่น้อมนำพระราชดำรัสของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชประสงค์ให้มูลนิธิฯ เป็นที่พึ่งของผู้หญิง มาเป็นพันธกิจ ในการช่วยเหลือผู้ป่วย และต้านภัยจากโรคมะเร็งเต้านม ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย อีกทั้งเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของศูนย์สิริกิต์บรมราชินีนาถ (เพื่อโรคมะเร็งเต้านม) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

       จากประสบการณ์อันยาวนานที่ได้ให้ความรู้ และดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม มูลนิธิฯ ตระหนักถึงความจำเป็นในการมีสถานที่ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ จึงมุ่งมั่นที่จะสร้างศูนย์ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายแก่ผู้ยากไร้ ที่ไม่แสวงหาผลกำไร ภายใต้ชื่อ“ บ้านพิงพัก ” ( Pink Park Village ) เพื่อดูแลผู้ป่วยด้อยโอกาสซึ่งมีคุณสมบัติตามที่กำหนดและได้รับการคัดเลือก โดยไม่ว่าจะมาจากที่ใดในประเทศ นอกจากนี้เรายังพบว่าผู้ป่วยหลายรายต้องพักฟื้นหรือเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม  บางรายต้องนอนข้างถนน  ใต้สะพานในระหว่างที่รับการรักษา ทั้งที่ผู้ป่วยเหล่านั้น   สมควรจะได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีในระหว่างรับการรักษาหรือจนกระทั่งจากไปท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดี และการดูแลที่อบอุ่นเปรียบเสมือนการดูแลญาติมิตร โดยปกติผู้ป่วยเหล่านี้ต้องนอนอยู่ในโรงพยาบาลเนื่องจากไม่มีที่ไป เป็นการจำกัดโอกาสในการรับผู้ป่วยใหม่ที่ต้องการการตรวจ   และรักษาจึงเป็นประโยชน์อย่างมาก ในการเพิ่มความสามารถที่จะรับคนไข้ของศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ และโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ

โครงการบ้านพิงพัก ประกอบด้วย

  1. บ้านพักและสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice Centre) สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักพิงให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายที่ยากไร้ และไร้ที่พึ่งพิง ด้วยการให้การดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด จากทีมแพทย์ และพยาบาล ที่พร้อมจะให้บริการด้วยความเอาใจใส่ และเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วย ตลอดจนครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณภาพ
  2. บ้านพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยที่กำลังทำรักษา (Convalescence Centre) สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้ ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด และต้องเข้ามารับการรักษาด้วยการใช้เคมีบำบัด หรือการใช้รังสีที่กรุงเทพฯ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่ใช้เป็นค่าที่พัก ในระหว่างการรักษาตัว ต้องไปอาศัยอยู่ตามวัดหรือใต้สะพาน บ้านพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยแห่งนี้ จะให้การดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ แก่ผู้ป่วยในระหว่างการรักษา
  3. ศูนย์กิจกรรมระหว่างวัน (Day Care & Activity Centre) สถานที่จัดกิจกรรมและสันทนาการต่าง โดยนักกิจกรรมบำบัด และอาสาสมัคร ที่ช่วยเหลือกิจการของมูลนิธิฯ สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมให้ได้รู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ ในยามที่ต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยตลอดช่วงเวลาที่ทำการรักษา