ห้องผ่าตัดโรคเต้านม

ห้องผ่าตัดโรคเต้านม

ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถและโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดสร้างห้องผ่าตัดเฉพาะทางโรคเต้านม โดยเริ่มเปิดบริการตั้งแต่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ที่ตึกว่องวานิช ชั้น 3 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างห้องผ่าตัดที่ครบวงจรสำหรับโรคทางเต้านมทุกประเภท ทั้งในแง่ของบุคลากรที่ชำนาญการ อุปกรณ์เครื่องมือทันสมัย และความสะดวกของผู้เข้ารับบริการ โดยทำงานร่วมกับหอผู้ป่วยระยะสั้นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเต้านม (Surgical Short stay unit) ว่องวานิช ชั้น 8

หัตถการผ่าตัดเฉพาะทางด้านเต้านมที่มีการบริการในห้องผ่าตัด ว่องวานิช ชั้น 3

  1. การผ่าตัดมะเร็งเต้านมและก้อนเต้านม ทั้งการผ่าตัดชนิดสงวนเต้านม (Breast conserving surgery) และการผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด(Mastectomy) ร่วมกับการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction) ซึ่งทางศัลยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินโรคและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย
  2. การผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองรักแร้ (Axillary node surgery) ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ มีการประเมินต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ด้วยการตรวจต่อมน้ำเหลืองเซนติเนล (Sentinel lymph node biopsy) โดยฉีดสารผ่านทางเดินน้ำเหลือง ณ ปัจจุบันสามารถฉีดสารได้ทั้งสิ้น 3 ชนิด คือ Isosulfan Blue Dye, Indocyanine Green (ICG) และ Radio-isotope ซึ่งในกรณีที่มีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังต่อมน้ำเหลือง ทางศัลยแพทย์จะประเมินความจำเป็นในการเลาะต่อมน้ำเหลืองรักแร้ต่อไป (Axillary Lymph Node dissection)
  3. การฉายแสงเต้านมระหว่างการผ่าตัด (Intraoperative Radiotherapy, IORT) ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถมีประสบการณ์ในการฉายแสงระหว่างการผ่าตัดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 โดยจุดประสงค์ของการฉายแสงระหว่างการผ่าตัดคือลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม และในผู้ป่วยบางรายสามารถทดแทนการฉายแสงหลังการผ่าตัดได้ ลดจำนวนวันที่ต้องมาฉายแสงที่ รพ. หลังการผ่าตัด และลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเดินทางมาฉายแสงหลังการผ่าตัด ในปัจจุบัน ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ มีเครื่อง INTRABEAM สำหรับการ Intraoperative Radiotherapy จำนวนสองเครื่อง ประสบการณ์ในการให้บริการผู้ป่วยมากกว่า 200 ราย
  4. การเจาะชิ้นเนื้อเต้านมเพื่อการวินิจฉัย (Breast Biopsy) ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถมีการให้บริการในการวินิจฉัยโรคเต้านมทางพยาธิวิทยา ตั้งแต่การเจาะดูดเซลล์ (Fine needle aspiration, FNA) การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ (Core needle biopsy, CNB) หรือการใช้เข็มดูดชิ้นเนื้อชนิดพิเศษ (Mammotome) โดยทางพยาธิแพทย์ ศัลยแพทย์ และรังสีแพทย์ จะทำงานร่วมกันเพื่อเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมกับแต่ละวิธีข้างต้น
  5. การใส่สายสวนหลอดเลือดที่ฝังใต้ผิวหนัง (Port-A catheter) เนื่องด้วยผู้ป่วยมะเร็งเต้านมบางรายมีความจำเป็นต้องให้ยาเคมีบำบัดเป็นระยะเวลานาน และผู้ป่วยบางรายก็ไม่สามารถหาเส้นเลือดสำหรับให้ยาได้สะดวกมากนัก ทางศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถจึงมีบริการใส่ Port-A catheter ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำหรับการเปิดเส้นน้ำเกลือเพื่อให้ยาเคมีบำบัด สามารถช่วยลดอาการเจ็บปวดและความทรมานของการหาเส้นเลือดเพื่อการให้ยาเคมีบำบัดแต่ละครั้งได้ โดยศัลยแพทย์ที่มีประสบการณ์จะเป็นผู้ประเมินถึงความเหมาะสมของผู้ป่วยเป็นรายๆไป
ห้องผ่าตัด
ทีมศัลยแพทย์ขณะผ่าตัด
เครื่อง ICG
Intraoperative Radiation
Intra-operative radiotherapy