หน่วยรังสีวิทยาเต้านม

การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เต้านม (CT Mammography)

เป็นการตรวจรังสีวิทยาที่ใช้คลื่นรังสีเอกซ์ (X-ray) ผ่านเต้านมและอาศัยโปรแกรมประมวลผลสร้างภาพสามมิติ ใน 3 ระนาบ (Axial, Sagittal and Coronal) โดยผู้เข้ารับการตรวจจะต้องนอนคว่ำบนเตียงตรวจพิเศษ ที่มีช่องสำหรับตรวจเต้านม โดยไม่ต้องอาศัยการกดบีบเต้านมแต่อย่างใด

H.R.H Princess Maha Chakri Sirindhorn visiting the QSCBC’s new CT-Mammography machine, with Dr Kris Chatamra and the QSCBC radiology team.
CT- mammography

ปัจจุบัน ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ จัดเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยที่นำเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์เต้านมมาใช้ โดยนำมาช่วยวางแผนการผ่าตัด รวมถึงประเมินการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด

Thermography

การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)

เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาเต้านมที่อาศัยรังสีเอ็กซ์ (X-ray) ในการถ่ายภาพเต้านม โดยผู้รับการตรวจจะต้องได้รับการจัดตำแหน่งเต้านมที่เหมาะสมกับตัวรับภาพ และให้เครื่องค่อยๆกดเต้านมเพื่อให้เนื้อเยื่อแผ่ออกและไม่ขยับขณะถ่ายภาพ โดยทั่วไปการถ่ายภาพแมมโมแกรมจะถ่าย 2 ท่ามาตรฐานคือ ในแนวบนลงล่าง (Craniocaudal view) และแนวซ้ายขวา (Mediolateral oblique view)

ในปัจจุบันการตรวจแมมโมแกรม จัดเป็นการตรวจคัดกรองมาตรฐานของมะเร็งเต้านมในประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามในกรณีที่มีความเสี่ยงสูงควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินการตรวจทางรังสีวิทยาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินี ยังมีการบริการตรวจแมมโมแกรมสามมิติ (Digital Tomosynthesis) ซึ่งสามารถเห็นภาพได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น โดยรังสีแพทย์จะใช้แมมโมแกรมสามมิติควบคู่ไปกับการใช้แมมโมแกรมมาตรฐาน ในผู้เข้ารับการตรวจที่ความเสี่ยงสูงหรือผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัดสงวนเต้านม โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

เครื่อง Mammogram
Tomosynthesis mammography, 3D mammography

การตรวจอัลตราซาวด์ (Breast Ultrasonography)

เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง สะท้อนให้เกิดภาพภายในเนื่อเยื่อของเต้านม ผู้เข้ารับการตรวจจะนอนราบบนเตียง โดยรังสีแพทย์จะใช้เจลใสทาบริเวณเต้านมเพื่อช่วยการส่งผ่านคลื่นเสียงจากหัวตรวจผ่านผิวหนังเข้าไปดูเนื้อเต้านม โดยผู้เข้ารับการตรวจสามารถมองเห็นภาพบนจอเครื่องตรวจไปได้พร้อมๆกัน

ปัจจุบันรังสีแพทย์จะใช้การตรวจอัลตราซาวด์ควบคู่กับการตรวจแมมโมแกรม เพื่อเพิ่มโอกาสการตรวจพบความผิดปกติในเต้านม หรือใช้ในการติดตามโรคเต้านมบางชนิด

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้อัลตราซาวด์เพื่อช่วยในการวางตำแหน่งสำหรับผ่าตัดในผู้ป่วยมะเร็งเต้านที่มีก้อนขนาดเล็กหรือไม่สามารถคลำก้อนได้ชัดเจน

การตรวจ Ultrasound

การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Dedicated breast MRI)

เป็นการตรวจทางรังสีวิทยาโดยอาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีต่อการตรวจแต่ละครั้ง ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องนอนคว่ำบนเตียงตรวจที่เคลื่อนเข้าในอุโมงค์ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยไม่ต้องได้รับการบีบเต้านมขณะตรวจ ทำให้สามารถระบุตำแหน่งความผิดปกติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถเป็นสถานที่แรกในประเทศไทยที่มีการใช้เครื่องตรวจ MRI สำหรับตรวจเต้านมโดยเฉพาะ โดยสามารถให้บริการผู้ป่วยได้จำนวนอย่างน้อย 6-8 รายต่อวัน นอกจากนี้ทางศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถยังมีการพัฒนาระบบการวิเคราะห์ภาพจาก Dedicated breast MRI ทำให้สามารถพบความผิดปกติได้ชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น

ในปัจจุบัน มีการแนะนำให้ใช้การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่อง MRI สำหรับกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตามยังไม่แนะนำการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วย MRI ในประชากรทั่วไป (Average risk) แต่สามารถใช้การตรวจ MRI เพื่อตรวจเพิ่มเติมในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพื่อวางแผนการผ่าตัด ได้แก่ กำหนดตำแหน่งสำหรับการผ่าตัดหรือเจาะชิ้นเนื้อ (MRI-guided intervention)

สถิติยอดผู้เข้ารับบริการตรวจ MRI breast ที่หน่วย breast imaging unit ตึกว่องวานิชชั้น 2 ศูนย์สิริกิติ์บรมราชินีนาถ เฉลี่ย 70 – 90 รายต่อเดือน

เครื่อง Dedicated breast MRI
การเตรียมคนไข้ก่อนตรวจ MRI